ประวัติพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระผู้อวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์ และไม่ใช่ผู้รับองค์การของพระผู้เป็นเจ้าให้ลง มาช่วยปลดเปลื้องบาปของมวลชนในพื้นพิภพ พระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้มีกำเนิดอย่างธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย แต่เป็นบุคคลเพียงคนเดียวตลอดหลานพันปีมาแล้ว ที่เป็นผู้รู้แจ้งสัจธรรมด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แจ้งเห็นจริงแก่มวลมนุษย์ ฉุดมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ เป็นผู้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และเป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา
คำว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่ชื่อเฉพาะของพระองค์ แต่เป็นชื่อแสดงถึงสภาวะแห่งพระทัย อันหมายความว่าพระองค์เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้สว่างแล้ว เป็นพระนามที่ได้ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ก่อนเสด็จออกผนวชพระองค์ทรงเป็นเจ้าชาย พระนามว่า สิทธัตถะ สกุลโคตรมะ เป็นราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมายา ราชวงศ์ศากยะครองนครกบิลพัสดุ์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินี วันเพ็ญวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช 80 ปีประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ทำพิธีขนานพระนามว่า สิทธัตถะ จากนั้น 2 วัน พระมารดาก็สิ้นพระชนม์ พระนางประชาบดี โคตมี พระมาตุจฉา ทรงเลี้ยงดูต่อมา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระบิดาส่งไปศึกษาในสำนักครูวิศวามิตร ทรงศึกษาได้รวดเร็วมากจนสิ้นความรู้จากอาจารย์ ทรงฝึกสมาธิขั้นปฐมฌานได้เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระราชบิดาทรงสู่ขอเจ้าหญิงยโสธรา มาอภิเษกสมรสให้เป็นพระชายา ทรงอยู่ครองเรือนเป็นเวลา 13 ปี ทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ พระนามว่า ราหุล
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 29 พรรษาแล้ว ทรงขบคิดปัญหาชีวิตหนักยิ่งขึ้น ทรงเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตมากขึ้น เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตของการครองเรือน ทรงพบ คนแก่ คนเจ็บ และนักบวช จึงได้เสด็จออกผนวช เพื่อแสวงหาสัจธรรมตามแบบอย่างนักบวชในยุคนั้น โดยมีความมุ่งหมายดังนี้
1. ทรงเลิกบริโภคกาม เพราะการบริโภคกามแม้จะเป็นสุข แต่ก็สุขชั่วคราวและเป็นความสุขที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ เปรียบเหมือนอาหารที่เจือปนด้วยยาพิษ แม้จะมีรสอร่อยก็ไม่ควรบริโภค
2. ทรงศึกษาหาทางให้พ้นจากความเกิด ความแก่ และความตายให้ได้ (พระธรรมของพระองค์มีลักษณะทั้ง 3 ครบถ้วน) เพราะเป็นภาวะที่ทำให้สรรพสัตว์ประสบความทุกข์ไม่มีวันสิ้นสุด
อันที่จริงคนที่บวชก่อนเจ้าชายสิทธัตถะก็มีมาก แต่มีความแตกต่างจากพระองค์เป็นอย่างมากเพราะ
1. บุคคลเหล่านั้นออกบวชเพราะบุคคลที่เคารพนับถือและผู้มีพระคุณบังคับให้บวชบ้าง ขอร้องให้บวชบ้าง โดยที่ตนเองไม่มีความตั้งใจที่จะบวช
2. ได้รับความทุกข์ ความคับแค้นใจในการครองเรือนถึงออกบวช
3. ได้ยินคนอื่นสรรเสริญว่าการบวชเป็นสุขก็เกิดอยากบวชลองดู
แต่เจ้าชายสิทธัตถะมิได้ตกอยู่ใน 3 ลักษณะนั้น กล่าวคือ
1. พระราชบิดามิทรงปรารถนาให้ออกบวช
2. พระองค์ไม่มีความทุกข์ความคับข้องพระทัยในชีวิตฆราวาส เพราะมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง
3. ไม่มีผู้ใดชักชวนให้พระองค์อออกผนวช และพระองค์ก็มีพระชนมายุถึง 29 พรรษา นับว่าเป็นผู้ใหญ่พอแล้ว ทรงมีสติใคร่ครวญรอบคอบดีแล้ว
พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ตำบล อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเรียกว่า พุทธคยา
ทรงประกาศศาสนาอยู่เป็นเวลา 45 พรรษา จึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ป่าสาละในกรุงกุสินารา ปัจจุบันเรียกว่า เมืองกาเซีย พระองค์ได้ตรัสกับภิกษุสงฆ์เป็นปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นวาจาสุดท้ายที่เราจะกล่าวแก่เธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความสิ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความหลุดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุดด้วยความไม่ประมาทเถิด”
แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเป็นเวลานานถึง 2500 กว่าปีมาแล้วก็ตาม แต่คำสั่งสอนอับประเสริฐของพระองค์หาได้ล่วงลับไปด้วยไม่ คำสั่งสอนเหล่านั้นยังคงอยู่และอำนวยประโยชน์สุขให้แก่มวลมนุษย์ตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น